Knowledge of Health

หลอดลมอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV (RSV Bronchiolitis)

พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล
 
      หากพูดถึงเชื้อไวรัส RSV  มีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงรู้จักดี เนื่องจากพบการระบาดเชื้อไวรัส RSV  มากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เชื้อ RSV  เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้ที่ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หากเกิดติดเชื้อในเด็กที่อายุน้อยกว่า12สัปดาห์ หรือเด็กมีประวัติคลอดก่อนกำหนด มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจหรือโรคปอด รวมทั้งเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมีภาวะหายใจลำบากจนถึงเสียชีวิตได้
พบว่า   90% ของเด็กที่ติดเชื้อ RSV  มักพบในอายุ 2 ปีแรก 
         40% ของเด็กที่ติดเชื้อ RSV   มีภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างทำให้เกิดภาวะหลอดลมและหลอดลมฝอยอักเสบในเด็ก
หลังการติดเชื้อ จะมีภูมิคุ้มกันเกิดในระยะสั้น  สามารถมีการติดเชื้อซ้ำในตลอดทุกช่วงอายุ 
วิธีการติดต่อ
1 หายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอด โดยติดจากคนที่ติดเชื้อจากการไอจามรดกัน หรือติดจากเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศ โดยเฉพาะบริเวณสถานที่มีคนแออัด
2.จากสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโดยตรง หรือจากการแพร่ผ่านจากมือคนที่มีสารคัดหลั่งที่มีเชือโรคอยู่ ไปสู่อีกคน หรือติดจากสิ่งแวดล้อมเช่นของเล่นเด็ก โต๊ะ  ลูกบิดประตู ที่มีสารคัดหลั่ง น้ำมูก เสมหะที่มีเชือโรคติดอยู่
อาการของโรคหลอดลมอักเสบ
เด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอมีเสมหะ เบื่ออาหาร หากเป็นมากขึ้นจะพบหายใจเร็ว หายใจเหนื่อยหอบหรือหายใจลำบาก มีปีกจมูกบาน ชายโครงหรือหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ อาจพบริมฝีปากเขียวร่วมด้วย
 องค์การอนามัยโรคกำหนดค่าหายใจเร็วของเด็กที่นับได้ใน 1 นาทีในไว้ดังนี้
  •   เด็กแรกเกิดถึง 2 เดือน  หายใจเร็วกว่า 60 ครั้ง/นาที
  •   เด็กอายุ 2 เดือนถึง1ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที
  •   เด็กอายุ 1- 5ปี  หายใจเร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที
  •   เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป หายใจเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที
    อาการที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคนี้คือ หยุดหายใจเป็นพักๆ หอบเหนื่อยจนซี่โครงหรือชายโครงบุ๋มขณะหายใจ ริมฝีปากเขียว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ
การวินิจฉัย
จากอาการและอาการแสดงข้างต้น กุมารแพทย์ตรวจร่างกายอาจพบเสียงผิดปกติในปอด ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจหาเชื้อเบื้องต้นโดยการป้ายที่เยื่อบุจมูกไปตรวจหาเชื้อ หากรายที่นอนโรงพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์จะส่งตรวจรังสีวินิจฉัยเพื่อดูภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย
            
การรักษา
 หลอดลมอักเสบจากไวรัส RSV กุมารแพทย์จะประเมินความรุนแรงของโรคเพื่อวางแผนการรักษา ในระยะแรกหากยังมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการเช่นพ่นยาขยายหลอดลม กายภาพบำบัดปอด ดูดเสมหะและมาดูแลตนเองต่อที่บ้านและนัดตรวจติดตามอาการซ้ำ โดยดูแลให้เด็กให้นอนพักผ่อน ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ รวมทั้งทานยาตามแพทย์สั่ง เฝ้าสังเกตุอาการเปลี่ยนแปลงและอาการแทรกซ้อน หากเด็กมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น อาการหายใจลำบากขึ้น หยุดหายใจ หรือริมฝีปากเขียวควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที ในเด็กกลุ่มเสี่ยงได้แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หากเกิดติดเชื้อในเด็กที่อายุน้อยกว่า12สัปดาห์ หรือเด็กมีประวัติคลอดก่อนกำหนด มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจหรือโรคปอด เด็กที่คลอดจากมารดาที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์รวมทั้งเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะหายใจลำบากได้มาก

การรักษาทั่วไป
1.ประเมินภาวะขาดน้ำ การทานอาหาร ให้ดื่มน้ำมากๆ หากทานไม่ได้หายใจหอบมากควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดการรับประทานอาหารเพื่อป้องกันการสำลัก
2.ให้ออกซิเจน หากเหนื่อยมาก มีอาการปากเขียว หรือมีออกซิเจนในเลือดต่ำ
3.ให้ยาขยายหลอดลม อาจทางการพ่นละอองฝอยหรือรับประทาน
4.ยาละลายเสมหะ กรณีเสมหะเหนียว ทานน้ำได้น้อย ในเด็กไม่ควรได้รับยากดการไอ เพราะอาจทำให้เสมหะไปคั่งในปอดมากขึ้นได้
5.ควรได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมโดยทำกายภาพทรวงอก เช่นเคาะปอด หรือการฝึกการไอให้ได้คุณภาพ เพื่อระบายเสมหะออกจากปอดและหลอดลม หากเอาเสมหะออกไม่ได้ควรได้รับการดูดเสมหะ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
การรักษาเฉพาะ
ไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง มีการใช้ยาต้านไวรัส Ribavirin  ในการรักษาในต่างประเทศแต่ในประเทศไทยไม่มียาชนิดนี้ใช้ กรณีติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบ โดนพิจาราณายาจากอาการ ความรุนแรง เสมหะที่ตรวจพบ ซึ่งในเด็กมักจะตรวจเชื้อจากเสมหะได้ยาก แพทย์จะพิจารณายาโดยอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยาคลินิกในแต่ละกลุ่มอายุเป็นหลัก 
       โดยทั่วไปอาการของโรคจะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน เด็กที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการหลอดลมตีบบ่อยครั้ง และเสี่ยงต่อการเป็นหอบหืดในอนาคต

มาตรการการป้องกัน
      ในต่างประเทศจะให้ยา  palivizumab ป้องกันในเด็กกลุ่มเสี่ยงขณะที่มีการระบาด แต่ในประเทศไทยยังไม่มียาตัวนี้ ดังนั้นเราควรจะให้ลูกน้อยหลีกเลี่ยงจากโรคนี้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ค่ะ
  1.หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด ที่มีเด็กอยู่รวมกันมากๆ โดยเฉพาะนำเด็กเล็กเข้าไป เช่น  ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ สนามเด็กเล่น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาด
  2.จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อากาศที่หนาวเย็นเกินไป
  3.ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีหรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบจากไวรัส RSV
  4.ดื่มนมแม่อย่างน้อย6เดือน รวมทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบหมู่
มาตรการการควบคุมโรค
1.แยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเพิ่ม พบส่วนของเชื้อ RSV ห่างจากเตียงผู้ป่วยถึง 22 ฟุต
2.ทำลายเชื้อที่มากับสารคัดหลั่ง เช่นเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ตามของเล่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบๆ
3.แนะนำให้ผู้ป่วยใช้หน้ากากอนามัย ในกรณีที่โตพอสมควร และแนะนำให้ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม
4.ผู้ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย
5.หากไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล  ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนอยู่กับบ้านอย่างน้อย 7 วันซึ่งเป็นช่วงที่แพร่เชื้อได้สูง (ระยะแพร่เชื้อ 3-8 วัน)

     จากความรุนแรงของโรคหลอดลมอักเสบจากไวรัส RSVนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้ลูกหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้โดยการเลี้ยงดูลูกน้อยดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิต รวมถึงการได้รับประทานอาหารครบหมู่และมีประโยชน์ การพาลูกน้อยไปรับวัคซีนครบถ้วน การดูแลอยู่ให้ลูกน้อยอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ สอนลูกให้ล้างมือจนเป็นนิสัย  จะทำให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคหลอดลมอักเสบจากไวรัส RSVรวมถึงโรคติดเชื้ออื่นๆได้ค่ะ

     พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล เรียบเรียงจาก  AAP : November2014 ,CDC : April 2015