เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

มารู้จักโรคโอเอบีกันเถอะ

นพ.วสันต์ เศรษฐวงศ์

โรคโอเอบีเป็นชื่อโรคที่ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ OAB ซึ่งย่อมาจากคำว่า Over Active Bladder ปัจจุบันยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่เป็นทางการสำหรับโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่บัญญัติขึ้นใหม่ได้ประมาณสิบกว่าปี แพทย์บางท่านอาจเรียกโรคนี้ว่า “กระเพาะปัสสาวะทำงานไวกว่าปกติ” หรือ “กระเพาะปัสสาวะทำงานไว้เกิน” หรือ “กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่คงที่” เป็นต้น ซึ่งชื่อเหล่านี้ทั้งหมดสื่อความหมายถึงการบีบตัวที่เร็วผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะตามความหมายของ overactive bladder ในภาษาอังกฤษ 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคโอเอบีมีอาการต้องไปปัสสาวะอย่างรีบด่วนทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะโดยไม่สามารถผัดผ่อนได้(Urgency)เป็นหลัก บางคนอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จนมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนไปถึงห้องน้ำ(Urge incontinence) หรืออาการปัสสาวะบ่อย(Frequency) คือ ปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน หรือตื่นกลางดึกเพื่อถ่ายปัสสาวะ(Nocturia)ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการอาจแตกต่างกันในผุ้ป่วยแต่ละราย และสิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นไข้ เป็นต้น

โรคโอเอบีเป็นโรคที่พบบ่อยในประชากรทั่วไปของทุกประเทศทั่วโลก อาจพบได้ถึง 14% ของประชากรทั่วไป นั่นหมายความว่าในประเทศไทยอาจมีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 6,000,000 ราย โรคนี้พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายเท่าๆกัน และเกิดได้ในคนมีอายุน้อยจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในผู้สูงอายุมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้น

โรคโอเอบีไม่ใช่เป็นสภาวะปกติของผู้สูงอายุเสมอไป แม้ว่าโรคนี้พบมากขึ้นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อาจพบได้มากถึง 16% ของประชากรกลุ่มนี้ นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุหลายคนก็ไม่มีโรคโอเอบี ดังนั้นโรคโอเอบีจึงไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สิ่งที่สำคัญโรคโอเอบีเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าตัวเองอาจมีโรคโอเอบีหรือความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ จึงควรรีบไปพบแพทย์

ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคโอเอบี เชื่อว่าโรคโอเอบีอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติทำให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะให้ทำงานตามปกติ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจึงเกิดการบีบตัวที่ไวผิดปกติ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ของโรคโอเอบีไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เนื่องจากมีหลายโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นิ่ว หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ก็มีอาการและอาการแสดงคล้ายๆกับโรคโอเอบี ดังนั้นถ้าสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคโอเอบี หรืออาการคล้ายๆกับโรคนี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

แม้ว่าโรคโอเอบีเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ไม่น้อยไปกว่าโรคร้ายแรงหลายโรค อาการปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงเนื่องจากต้องลุกไปปัสสาวะบ่อย การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเวลาจราจรติดขัดหรือช่วงเดินทางไกลต้องแวะหาห้องน้ำตลอดการเดินทาง ทำให้หลายคนไม่อยากออกจากบ้าน เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้าตามมาภายหลัง อาการปัสสาวะเล็ดราดทำให้เกิดความอับอาย ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคมและอาจเกิดปัญหาในครอบครัวขึ้นได้ ส่วนอาการลุกขึ้นปัสสาวะกลางดึกบ่อยๆนั้น ทำให้ผู้ป่วยพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สร้างความรำคาญและทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

การวินิจฉัยโรคโอเอบีไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนแต่อย่างไร เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการชวนสงสัยว่าเป็นโรคโอเอบีมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับอาการต่างๆ ระยะเวลาที่มีอาการ โรคประจำตัว และอาการร่วมอื่น ฯลฯ  ร่วมกับการตรวจร่างกายทุกระบบอย่างครบถ้วน ทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจภายใน การตรวจทางทวารหนัก และการตรวจระบบประสาที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายปัสสาวะ รวมทั้งการส่งตรวจห้องปฏิบัติการเบื้อต้นที่จำเป็น เช่น การจดบันทึกการปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะหรือระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการและอาการแสดงคล้ายกับโรคโอเอบีก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าอาการของผู้ป่วยเกิดจากโรคโอเอบีจริงๆ จะเห็นได้ว่าการตรวจวินิจฉัยโรคโอเอบีไม่ได้น่ากลังแต่อย่างไร ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าอาจเป็นโรคโอเอบีควรรีบไปพบแพทย์

ปัจจุบันมีหลายวิธีในการรักษาโรคโอเอบีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เช่น ลดการดื่มน้ำในกรณีที่ดื่มน้ำมากเกินไป งดการดื่มน้ำก่อนนอนและก่อนออกเดินทาง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ เช่น แอลกอฮอลล์ ชาและกาแฟ ไม่อั้นปัสสาวะเวลานาน เป็นต้น
  • การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะแข็งแรงขึ้น สามารถใช้รักษาโรคโอเอบีได้ แต่ต้องผ่านการฝึกอย่างถูกวิธีเท่านั้น ดังนั้นจึงควรซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำการฝึกที่ถูกต้อง
  • การรักษาด้วยยา ยากลุ่ม Antimuscarinics เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคโอเอบี โดยการลดการบีบตัวที่ไวเกินของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้อาการของโรคดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก บางรายอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือง่วงซึมได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • การรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า การฉีดสาร Botulinum toxinเข้าไปในกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ และการผ่าตัดต่างๆนั้นสงวนไว้เฉพาะในกรณีที่รักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ประสพความสำเร็จเท่านั้น
สุดท้ายนี้ขอเน้นอีกครั้งว่า โรคโอเอบีไม่ใช่โรคที่น่าอับอาย และไม่ได้เป็นแค่ตัวเราคนเดียว ยังมีอีกหลายล้านคนที่มีอาการเหมือนกับตัวเรา และโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นแค่กล้าที่ออกไปขอคำจากปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรับการรักษาทีถูกต้อง ก็จะพบว่าได้คุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมาอีกครั้ง